ลานประถม ( อายุ 6-12 ปี )
การเรียนรู้เริ่มขึ้นที่นี่อย่างสอดคล้องกับวัย และพัฒนาการจากสิ่งที่ใกล้ตัวสู่สิ่งที่อยู่ไกลตัว การได้เรียนรู้ในแหล่งเรียนรู้ที่เป็นจริง ได้สัมผัสกับสิ่งต่างๆ ด้วยอายตนะทั้ง 6 ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้ง และเกิดความคิดรวบยอดขึ้นได้ด้วยตนเอง การได้บันทึกและนำเสนอข้อมูล เป็นการส่งเสริมให้เด็กได้รู้จักการวิเคราะห์ สังเคราะห์ สิ่งที่ได้เรียนรู้มา จากนั้นเด็กๆ จะได้รับการสนับสนุนให้นำเสนอข้อมูล หรือข้อสรุปที่ได้ในรูปแบบต่างๆ ความรู้ที่เด็กได้จึงไม่เป็นเพียงสิ่งที่เด็กต้องจำเท่านั้น แต่เด็กจะได้เรียนรู้การใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ อันได้แก่ การรู้จักสังเกต และค้นคว้าหาข้อมูล การเชื่อมโยงเหตุและผล การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล ก่อนจะสรุปและนำเสนอในรูปแบบต่างๆ รวมถึงเด็กจะได้เรียนรู้กระบวนการทางสังคม นั่นคือกระบวนการกลุ่ม การทำงานเป็นทีมซึ่งจะปลูกฝังให้เด็กรู้จักการรอคอยและยอมรับในความคิดเห็นของเพื่อน การรู้จักเผชิญปัญหาอย่างมีสติ การร่วมกันแก้ปัญหาซึ่งจะฝึกการเป็นผู้นำ – ผู้ตาม การยอมรับบทบาทของกันและกัน การรู้จักเผชิญปัญหาอย่างมีสติ การร่วมกันแก้ปัญหาซึ่งจะฝึกการเป็นผู้นำ - ผู้ตาม
การยอมรับบทบาทของกัน และการรู้จักสรุปบทเรียน ในเวทีของการนำเสนอสิ่งที่ได้เรียนรู้ในช่วงเวลาก่อนปิดภาค จึงเห็นได้ว่า เด็กๆแบ่งงาน และแบ่งหน้าที่กันทำงานอย่างสงบ และพยายามช่วยเหลือกันทำให้งานบรรลุผลอย่างที่ตนเองต้องการ การนำเสนองานต่อสังคม เป็นภาระหน้าที่ที่เด็กๆ จะได้แสดงออกอย่างมีความมั่นใจ เพราะกระบวนการเรียนรู้ที่ได้บ่มเพาะลงไปในเนื้อในตัวเด็กนั้น ทำให้เด็กเกิดความคิดรวบยอดขึ้นด้วยตนเอง ไม่ได้เกิดจากการท่องจำ
การเรียนรู้ในลานประถมเริ่มต้นจากการรู้จักการปรับตัวเพื่อที่จะอยู่ในห้องเรียนที่เปรียบเสมือนบ้านหลังหนึ่ง เด็กๆเริ่มต้นจากการเรียนรู้ว่า ห้องเรียนเล็กๆนี้ เป็นแหล่งรวมของความแตกต่าง เราจะปรับตัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้อย่างไร เราจะช่วยเหลือกันได้อย่างไรในชีวิตประจำวัน และจะดูแลบ้านของเราอย่างไร เด็กเรียนรู้ทักษะชีวิตจากการปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน โดยมีคุณครูและผู้ใหญ่ในโรงเรียนเป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นกัลยาณมิตรสม่ำเสมอ จนกลายเป็นวิถีชีวิตของเด็กๆ เมื่ออยู่ในลานประถมตลอดทั้ง 6 ปีการศึกษา
การเรียนรู้ในหน่วยบูรณาการ เด็กๆในลานประถมจะได้รับการเรียนรู้แบ่งเป็น 3 ภาค แห่งการเรียนรู้ใหญ่ๆ คือ ภาคแรกเป็นการเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับตนเอง ภาคที่สองเป็นการเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสังคม ชุมชน และภาคที่สามเป็นการเรียนรู้เรื่องราวของการเชื่องโยงตนเองกับชุมชน ซึ่งเนื้อหาของการเรียนรู้จะละเอียดหรือเจาะลึกเพียงใด ขึ้นอยู่กับกรอบของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด โดยพิจารณาจากความเหมาะสมของวัย และช่วงชั้นเป็นสำคัญ
ในท้ายทีสุดแล้วนอกจากความรู้ทางวิชาการในกรอบของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการที่เด็กๆ จะได้รับแล้ว เด็กๆจะเรียนรู้ว่า ไม่เพียงแต่พวกเขาจะต้องอยู่ร่วมกับผู้คนมากมายในสังคม แม้กระทั่งโลกก็ไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ทุกสิ่งมีผลกระทบซึ่งกันและกัน พึ่งพิงกัน ซึ่งเมื่อพูดถึงสิ่งมีชีวิตบนโลก พวกเขาอาจดูเล็กมากกว่าจดหนึ่งจุด ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากจากกระบวนการเรียนรู้ซึ่งเริ่มต้นจากสิ่งที่ใกล้ตัวสู่สิ่งทีไกลตัว ทำให้เด็กๆเชื่อมโยงได้ว่า คนทุกคนล้วนมีสวนในการสร้างหรือทำลายโลกนี้ ถ้าเด็กๆ อยากให้โลกสวยก็ต้องเริ่มต้นที่ตัวเอง หากทำได้เช่นนี้ เด็กๆ ก็จะเติบโตขึ้นอย่างมีคุณค่าแก่โลก เฉกเช่นไม้งามที่มีคุณค่าแก่ป่าใหญ่สืบไป