มีเด็กนักเรียนมัธยมคนหนึ่ง ชื่ออัส (อัสสชิ หอสุวรรณศักดิ์) ปกติเวลาปิดเทอมเขาชอบท่องเที่ยวเดินทางไปตามต่างจังหวัด บางครั้งเจอคนต่างชาติที่หลงทาง อัสก็มีน้ำใจช่วยบอกทางให้ แนะนำว่าขึ้นรถไฟตรงนั้น หรือขึ้นรถเมล์ตรงนี้ อัสมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือคนต่างชาติหรือคนที่มีปัญหา
ปีนี้ตอนปิดเทอมอัสได้ข่าวว่ามีการรับสมัครจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่โรงพยาบาลราชวิถี เขาเกิดสนใจขึ้นมา แทนที่จะใช้เวลาช่วงปิดเทอมไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ ตามปกติ ก็มาเป็นจิตอาสาเพราะชอบช่วยเหลือคนอยู่แล้ว
งานที่โรงพยาบาลคือช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วย มีผู้ป่วยจำนวนมากมาจากต่างจังหวัดที่ไม่ค่อยรู้ระบบของโรงพยาบาล เช่น มาถึงแล้วต้องทำอะไรบ้าง จะไปรับบัตรคิวที่ไหน ได้บัตรคิวแล้วต้องทำอย่างไรต่อ หรือไปเจาะเลือดที่ห้องไหน พบหมอที่ห้องไหน บางคนไม่รู้เลย เพราะระบบของโรงพยาบาลเป็นสิ่งที่ชาวบ้านไม่ค่อยคุ้นเคย จึงจำเป็นต้องมีจิตอาสามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วย แนะนำให้ไปช่องนั้น แนะนำให้ทำอย่างนี้
อัสมีความสุขดี แต่บางครั้งก็รู้สึกหงุดหงิด เพราะว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นคนแก่ งก ๆ เงิ่น ๆ ไม่ค่อยรู้จักระบบโรงพยาบาล เวลาชี้แจงแนะนำก็ไม่ค่อยเข้าใจ ทีแรกอัสก็หงุดหงิดว่าทำไมพูดแค่นี้ไม่เข้าใจ แต่ตอนหลังก็กลับมาพิจารณาตัวเองว่าเราอธิบายชัดเจนพอหรือเปล่า เราพูดเร็วไปไหม พอสังเกตตัวเองแบบนี้ก็เริ่มปรับตัว พูดดังขึ้นเพราะคนแก่หูไม่ค่อยดี และพูดช้าลง ฟังมากขึ้น
ปรากฏว่า พอทำอย่างนั้น ผู้ป่วยรวมทั้งญาติก็ได้รับบริการจากโรงพยาบาลสะดวกขึ้น อัสพบว่าพอทำอย่างนี้ไปนาน ๆ เข้า ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง แม่บอกว่าเดี๋ยวนี้อัสใจเย็นขึ้น มีเหตุผลมากขึ้น แต่ก่อนวู่วามขี้โมโห อัสก็สังเกตเห็นเช่นกันว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับตัวเองตั้งแต่มาเป็นจิตอาสา จากเดิมที่เป็นคนขี้หงุดหงิดก็ใจเย็นขึ้น แต่ก่อนพูดเร็ว ใจร้อน เดี๋ยวนี้พูดช้าลง ใจเย็นขึ้น มีเหตุผลมากขึ้น ไม่เอาแต่ใจตัว เกิดการเปลี่ยนแปลงที่คนอื่นรับรู้ได้ โดยเฉพาะแม่ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับลูก
การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นกับจิตอาสาหลายคน เช่น น้องด้าย เป็นนักเรียนอายุ 14 ปี ไปเป็นจิตอาสาที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด ที่นั่นมีเด็กอ่อนเยอะ บรรยากาศแตกต่างจากโรงพยาบาลราชวิถีที่มีคนแก่เยอะ แต่ที่บ้านปากเกร็ดเป็นเด็ก ๆ ทั้งนั้น
พอน้องด้ายไปเป็นจิตอาสา ไปช่วยคุย เล่น เป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็ก ปรากฏว่าเกิดการเปลี่ยนแปลง ทีแรกเจ้าตัวไม่รู้ แต่แม่รู้ แม่บอกว่าเดี๋ยวนี้น้องด้ายนิ่งขึ้น สุขุมขึ้น รับฟังคนอื่นมากขึ้น และใช้อารมณ์น้อยลง คล้ายกับที่แม่พูดถึงอัส ทั้งที่ทั้งสองคนทำงานคนละแห่ง แต่ที่เหมือนกันคือใจเย็นขึ้น มีเหตุผลมากขึ้น
มีจิตอาสาหลายคน แม้จะต่างวัยแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงคล้าย ๆ กัน อีกคนหนึ่งเป็นผู้ชายชื่อกบ เป็นนักธุรกิจ อายุเกือบ 40 ปี มาเป็นพี่เลี้ยงเด็กที่บ้านปากเกร็ดเหมือนกัน เวลาเป็นพี่เลี้ยงต้องมาประจำอาทิตย์ละ 2 ครั้ง และต้องมาต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน ปรากฏว่าพอเป็นจิตอาสาได้สักพัก ก็พบว่าตัวเองพูดจานุ่มนวลขึ้น แต่ก่อนเวลาเจอลูกน้อง ก็พูดจาห้วน ๆ บางทีก็ใช้อารมณ์ แต่หลังจากมาเป็นจิตอาสา ลูกน้องบอกว่าพี่กบพูดจานุ่มนวลขึ้น ไม่กระโชกโฮกฮาก หรือพูดตามอารมณ์เหมือนเมื่อก่อน
กบอธิบายว่าเวลาอยู่กับเด็กเขาจะพูดจาโผงผางเหมือนปกติไม่ได้ ต้องใจเย็น จะทำอะไรเร็ว ๆ แรง ๆ ก็ไม่ได้ ต้องนุ่มนวล พอทำอย่างนี้บ่อย ๆ ก็เป็นความคุ้นเคย พออยู่กับคนอื่นจึงพูดนุ่มนวลมากขึ้น โผงผางน้อยลง
สิ่งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับจิตอาสาหลายคน บางคนเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เชื่อมั่นในตัวเองมาก เวลาทำงานกับลูกน้องก็ไม่ค่อยฟังใคร สั่งอย่างเดียว ถ้าลูกน้องไม่ทำตามหรือทำไม่ได้ดั่งใจก็โมโห แต่พอมาเป็นจิตอาสาดูแลเด็ก ปรากฏว่าความหุนหันพลันแล่นน้อยลง ใจเย็นมากขึ้น ฟังคนอื่นมากขึ้น จนใคร ๆ ก็สังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลง
อันนี้คือสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าคนเราเวลาทำอะไรเพื่อผู้อื่น มักเกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวเองด้วย เหมือนกับว่าเมื่อช่วยผู้อื่น สิ่งที่ทำก็กลับมาช่วยตัวเราเองด้วย
การช่วยตัวเราเอง ไม่ได้หมายความว่าได้เงินทอง มีชื่อเสียง โชคลาภมากขึ้น แต่หมายถึงมีการเปลี่ยนแปลงภายใน เหมือนเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง เวลาเราปฏิบัติธรรมวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งคือเราต้องการเปลี่ยนแปลงภายใน
หลายคนที่มาปฏิบัติธรรมเพื่อต้องการให้ใจเย็นมากขึ้น ยับยั้งชั่งใจมากขึ้น หุนหันพลันแล่นน้อยลง แต่ก็มีหลายคนที่แม้ไม่มาปฏิบัติธรรมที่วัด ไปเป็นจิตอาสาที่โรงพยาบาล ที่บ้านปากเกร็ด หรือที่อื่น ปรากฏว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในเช่นกัน
สิ่งนี้เรียกว่าเกิดประโยชน์ตนได้เหมือนกัน ไม่ใช่แค่ทำประโยชน์ท่าน ประโยชน์ตนที่สำคัญคือ ประโยชน์ด้านใน หรือการเปลี่ยนแปลงภายใน เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน ใจเย็นมากขึ้น สุขุมมากขึ้น รับฟังคนอื่นมากขึ้น ความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็ดีขึ้น มีเรื่องระหองระแหงน้อยลง และสิ่งที่ตามมาคือความสุข เป็นความสุขที่เกิดจากการทำความดี ช่วยผู้อื่น และเกิดจากนิสัยใจคอที่เปลี่ยนไป รวมทั้งยังมีความสุขเพราะภูมิใจที่ได้ช่วยคนที่เดือดร้อนให้มีความสุข
มีคนถามน้องอัสที่เป็นจิตอาสาอำนวยความสะดวกที่โรงพยาบาลราชวิถีว่า ทำไมถึงมาเป็นจิตอาสาช่วงปิดเทอม หรือแม้กระทั่งเปิดเทอมแล้ว ก็ยังหาเวลาว่างมาเป็นจิตอาสา อัสตอบสั้น ๆ ว่า “ผมทำแล้วมีความสุขครับ” ซึ่งตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข” การให้ความสุข ไม่ได้ทำให้เราทุกข์ จริงอยู่เราอาจจะเหนื่อย เสียเวลา มีเวลาเที่ยวน้อยลง แต่ว่าเกิดความสุข สุขที่ได้ช่วยคนอื่น สุขที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในตัวเอง
คนที่ขี้หงุดหงิด ใจร้อน วู่วาม พอใจเย็นมากขึ้น มีเหตุผลมากขึ้น หรือฟังคนอื่นมากขึ้น ก็มีความสุข เพราะความรุ่มร้อนภายในมารบกวนจิตใจน้อยลง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้แม้ว่าไม่ได้มาเจริญสติที่วัด แต่ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งที่เราสามารถทำได้ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ตาม